เสาเข็มเจาะระบบเปียกคืออะไร?

เสาเข็มเจาะระบบเปียกคืออะไร?

เสาเข็มเจาะระบบเปียก (Wet Process) เป็นเสาเข็มระบบหนึ่งที่นิยมใช้ในการก่อสร้างฐานรากโครงการขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อาทิเช่นอาคารสูง (skyscraper), โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เช่น สะพาน, รถไฟฟ้า, อุโมงค์และอื่นๆ ซึ่งเสาเข็มระบบนี้มีความสามารถในการรับน้ำหนักได้สูงและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

 

ขั้นตอนในการก่อสร้างเสาเข็มเจาะ 

  1. การติดตั้งปลอกเหล็กชั่วคราว (Temporary Casing)

เมื่อระบุตำแหน่งของเสาเข็มแล้วจึงทำการลงปลอกเหล็ก โดยใช้ Vibro Hammer กดปลอกเหล็กลงไปในดินตามตำแหน่งที่กำหนด เช็คระยะในแนวราบ โดยวัดระยะจากจุดศูนย์กลางทั้งสองแนวแกน และตรวจสอบระยะในแนวดิ่งโดยจะต้องผิดพลาดได้ไม่เกิน 1 ต่อ 100 ของความยาวเสาเข็ม  ในกรณีดินแข็งแน่นที่ไม่มีน้ำใต้ดินหรือมีน้อยมาก อาจไม่จำเป็นจะต้องใช้ปลอกเหล็กก็ได้

ในการที่จะทำให้ปลอกเหล็กวางได้ตรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ ใช้วิธีการ off set หมุดแกนไม้ไว้ทั้งสองแกน และใช้ไม้หรือเหล็ก ทิ่มไปที่ปลอกเหล็กและดูระยะจากปลอกเหล็กถึงหมุดว่าได้ระยะ off set ตามที่กำหนดหรือไม่ โดยให้ทำการตรวจสอบตลอดการติดตั้งเหล็กปลอก

 

  1. นำดินออกด้วยวิธี Dry Process

เมื่อลงปลอกเหล็กเสร็จเรียบร้อยแล้วจะใช้หัวเจาะแบบสว่าน Auger ในการเจาะเพราะในช่วงแรก ยังไม่มีน้ำทลายเข้ามาในดินและเมื่อเจาะถึงระดับดินอ่อนหรือระดับที่น้ำสามารถเข้ามาได้ให้ทำการเติม slurry (สารละลาย) เพื่อช่วยในการพยุงหลุม

 

  1. นำดินออกด้วยวิธี Wet Process

เปลี่ยนหัวเจาะแบบ Bucket โดยเมื่อเจาะหลุมความลึกเพิ่มขึ้น ให้เติมสารช่วยพยุงโดยพยายามรักษาระดับสารช่วยพยุงให้อยู่สูงกว่าระดับดิน (Existing Ground)และเมื่อเจาะได้ถึงระดับที่กำหนดแล้วให้ทำความสะอาดก้นหลุมด้วย Cleaning Bucket ให้แน่ใจว่าก้นหลุมสะอและมีความเรียบได้ระดับ

 

  1. การตรวจสอบรูเจาะ

หลังจากทำความสะอาดก้นหลุมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ตรวจสอบรูเจาะ หาความลึกที่แท้จริงโดยใช้ลูกตุ้มน้ำหนักผูกติดกับเทปวัดมาตรฐาน หย่อนลงไปในหลุมแล้วอ่านค่าความลึกของหลุม และตรวจสอบการพังทลายของรูเจาะ หากตรวจพบการพังทลายให้ทำความสะอาดก้นหลุมอีกครั้งจนกว่าจะเรียบร้อย

 

  1. การลงเหล็กเสริมและท่อ เพื่อเตรียมเทคอนกรีต

ตรวจสอบเหล็กเสริมให้ตั้งฉาก จากนั้นเชื่อมต่อโครงเหล็กแต่ละท่อนเข้าด้วยกันโดยมีระยะทาบไม่น้อยกว่า 40 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็กเสริม ตรวจสอบระยะหุ้มของคอนกรีต โดยที่ในเหล็กเสริมจะมีลูกปูนที่ใช้สำหรับหนุนให้เกิดระยะหุ้มและประคองเหล็กให้ทรงตัวอยู่ในรูเจาะ

 

  1. ติดตั้งท่อ Tremie

นำท่อ Tremie ลงไปในโครงเหล็กที่เตรียมไว้ ต่อกันลงไปทีละท่อนด้วยเกลียว ส่วนปลายของท่อ จะอยู่สูงจากก้นหลุมประมาณ 2-3 เมตร ซึ่งพอที่จะให้คอนกรีตไหลออกได้สะดวก จากนั้นติดตั้งกรวยรับคอนกรีตที่ปลายท่อด้านบน

 

  1. การเทคอนกรีต

เทคอนกรีตผ่าน ท่อ Tremie โดยก่อนการเทคอนกรีตให้เทโฟม (Plug) ลงไปในท่อ Tremie ก่อนเพื่อกั้นระหว่าง Slurry กับคอนกรีต เมื่อเทคอนกรีต slurry จะถูกคอนกรีตดันให้ล้นออกจากปากหลุม และคอนกรีตจะเข้าไปแทนที่ ในขณะที่ทำการเท ท่อ Tremie จะต้องอยู่ในคอนกรีตตลอด และต้องเทอย่างต่อเนื่อง เมื่อปริมาณคอนกรีตเพิ่มขึ้นจะต้องตัดท่อ Tremie  เป็นระยะๆเพื่อให้ท่ออยู่ในคอนกรีตประมาณ 2 เมตร หรือ 3-5 เมตร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บริเวณหน้างาน จนกว่า Slurry จะถูกแทนที่ด้วยคอนกรีตจนหมด

 

  1. การถอนปลอกเหล็ก

เมื่อเทคอนกรีตจนเต็มแล้ว ให้ถอนปลอกเหล็กขึ้นก่อนที่คอนกรีตจะแข็งตัวโดยใช้ Vibro hammer ในการถอน ในขณะที่ทำการถอนต้องควบคุมปลอกเหล็กให้อยู่ในแนวดิ่งเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน  หลังจากนั้นหลุมต้นถัดไปจะต้องอยู่ห่างจากต้นที่เสร็จแล้วเป็นระยะ 6 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางเสาเข็มและเป็นเวลา 24 ชั่วโมง